เทคโนโลยี Load Boards เพื่อการพัฒนาธุรกิจขนส่ง และโลจิสติกส์ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

Load Boards, ขนส่งและโลจิสติกส์

            ปัจจุบันตลาดให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ในประเทศไทยมีมูลค่า 215,000 ล้านบาท ซึ่ง 67% เป็นการขนส่งทางบกด้วยรถบรรทุก มีมูลค่าประมาณการ 145,000 ล้านบาท จากส่วนแบ่งทางการตลาดดังกล่าวนี้ 90% เป็นการขนส่งด้วยการทำสัญญารายปี มีเพียง 10% เท่านั้นที่เป็นการขนส่งด้วยสัญญารายเที่ยววิ่ง (Spot Market) ซึ่งมีมูลค่าประมาณการ 14,500 ล้านบาท

            ในปัจจุบันมีการแข่งขันอย่างดุเดือดของบริษัทขนส่งเอกชนและผู้ให้บริการ 3PL หลากหลายราย ด้วยจุดประสงค์เดียวคือต้องการเป็นเจ้าตลาดเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองในการประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการ 3PL จำเป็นต้องมีสัญญาวิ่งงานรายปี (Contract Market) กับบริษัทผู้ขนส่งเพื่อเป็นการการันตีว่าจะมีรถขนส่งเพียงพอในการตอบสนองต่อปริมาณงานจากลูกค้า เแต่ในเศรษฐกิจปัจจุบัน ความไม่แน่นอน คือ ความแน่นอน ปริมาณงานมีความผันผวน คาดเดาได้ยาก (uncertain demand) บางครั้งมีงานในเส้นทางใหม่นอกเหนือจากขอบเขตงานที่กำหนดไว้ในสัญญาวิ่งงาน บ่อยครั้งที่ลูกค้ามีงานที่เร่งด่วน หรือมีงานที่เกินความสามารถในการขนส่งจากจำนวนกองรถที่มี จากสถานการณ์ต่างๆเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาในการหารถบรรทุก (Sourcing trucks) เพื่อการขนส่งสินค้าให้ได้ทันเวลา บางครั้งหารถไม่ได้ หรือหารถบรรทุกได้ก็จริงแต่ราคาค่าบริการสูงกว่าราคาปกติไปมาก ในกรณีที่หารถบรรทุกไม่ได้ ไม่ใช่ว่าในตลาดไม่มีรถบรรทุกอย่างเพียงพอ เพียงแต่บางครั้งผู้ต้องการใช้บริการกับผู้ให้บริการไม่มีโอกาสได้เจอกัน

            เทคโนโลยี Load boards หรือ กระดานงาน จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการหารถบรรทุกรายเที่ยวหรือเรียกว่า Spot Market โดยที่สามารถเป็นแผนสำรองสำหรับผู้ให้บริการ 3PL ในการหารถบรรทุกได้ในช่วงเวลาเร่งด่วน สำหรับบริษัทขนส่งเองก็มักมีปัญหาเรื่องการวิ่งเปล่า หรือบางครั้งรถบรรทุกไปค้างคืนอยู่ที่ปลายทางหลายวันยังไม่มีงานกลับ ก็สามารถใช้ Load Boards เป็นเครื่องมือในการหางานขากลับได้ (Backhauling)

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเป็นผู้ให้บริการ 3PL อยู่เป็นจำนวนมาก มีการรวมกลุ่มเพื่อแชร์งานกันในไลน์ หรือกลุ่มเฟสบุค แต่ดูเหมือนต่างคนต่างทำ ไม่มีเทคโนโลยีแพลตฟอร์มกลาง ไม่มีหน่วยงานกลางมากำกับดูแลมาตรฐาน เกิดปัญหาผู้ขนส่งทิ้งงาน หรือ ผู้ใช้บริการเบี้ยวหนี้ไม่จ่ายค่าขนส่ง ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยกรและเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจในกลุ่ม 3PL ไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร ไม่สามารถยกระดับการให้บริการเพื่อการแข่งขัน หรือขยายขอบเขตการให้บริการเทียบเท่าบริษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติได้ ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Load Boards ซึ่งประกอบด้วยโปรแกรม 3 โมดูล หลักดังนี้

  1. Load Manager เป็นระบบบริหารจัดการสำหรับผู้ให้บริการ 3PL ในการรับออร์เดอร์จากลูกค้า วางแผนการจัดส่ง โพสต์โหลดไปยัง Load Boards เพื่อหาผู้ขนส่งเสริม สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้า สถานะใบงาน
  2. Load Boards เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีแพลตฟอร์มสำหรับรวบรวมเทียววิ่งงานขนส่ง จากแหล่งผู้ป้อนโหลดต่างๆ เช่นเจ้าของสินค้า โดยเฉพาะบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ 3PL ที่ต้องการหากำลังรถขนส่งเสริม
  3. Transport Manager เป็นโปรแกรมสำหรับผู้ขนส่ง ด้วยโปรแกรมตัวนี้ สมาชิกผู้ขนส่งสามารถค้นหาและจองโหลดได้ หลังจากยืนยันราคาและยอมรับเงื่อนไขการให้บริการ ก็สามารถจ่ายงานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังคนขับรถได้

 

Flow Loadboard

 

Figure 1 ภาพรวมของอุตสาหกรรมขนส่ง

 

ประโยชน์ของเทคโนโลยี Load Boards

ซอฟต์แวร์ Load Boards เป็นเครื่องมือช่วยงานระหว่าง เจ้าของสินค้า หรือ 3PL ขนาดเล็ก ถึง ขนาดกลาง กับ บริษัทผู้ขนส่งทั่วไป โดย 3PL สามารถเข้าถึงแหล่งรวบรวมรถบรรทุกหลากหลายประเภท ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ส่วนบริษัทขนส่งได้ประโยชน์จากการเข้าถึงแหล่งรวบรวมงาน ค้นหางาน รับงานโดยตรงจากเจ้าของสินค้า หรือ 3PL โดยไม่ต้องเสียค่านายหน้าเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าขนส่งเหมือนแพลตฟอร์มขนส่งอื่นๆ โมเดลธุรกิจของผู้ให้บริการ Load Boards มักจะมีรายได้จากการเก็บค่าบริการสมาชิกรายเดือน หรือรายปี

ประเทศไทยควรมีการพัฒนาและให้บริการ Load Boards เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการรายย่อยทั้งเจ้าของสินค้า ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ 3PL และบริษัทผู้ขนส่ง โปรแกรม Load Boards เป็นเทคโนโลยีเพื่อการลดต้นทุน ซึ่งมีความเหมาะสมกับสถานการณ์สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในปัจจุบัน ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง โดยเฉพาะผลกระทบระบบต่อห่วงโซ่อุปทานจากสถานการณ์สงครามในยุโรป

 

คำนิยามผู้ใช้งานระบบที่เกี่ยวข้อง

ผู้ใช้งานระบบฝั่ง Demand

  • Shipper คือ ผู้ผลิต หรือเจ้าของสินค้าที่มีสินค้าที่ต้องการจัดส่ง
  • Broker คือ เป็นคนสำคัญทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างเจ้าของสินค้า (Shipper) กับ ผู้ให้บริการขนส่ง (Carrier) เป็นผู้บริหารความต้องการและเงื่อนไขในการจัดส่งสินค้าให้เหมาะสมกับผู้ขนส่ง เป็นผู้โพสต์งานไปยังระบบ Load Boards เฉพาะ Broker ที่ลงทะเบียนและมีเอกสารถูกต้องครบถ้วนแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถส่งงานเข้าระบบโหลดบอร์ดได้ broker เป็นผู้ต่อรองราคาโดยตรงกับผู้ขนส่งเพื่อได้เรตที่ดีที่สุด

ผู้ใช้งานระบบฝั่ง Supply

  • Carrier คือ เจ้าของรถบรรทุก เป็นผู้ให้บริการขนส่ง
  • Dispatcher คือ ตัวแทนบริหารกองรถ เป็นผู้ค้นหาและเจรจาหางานจากโหลดบอร์ดเพื่อจ่ายงานให้คนขับรถ ในบางครั้งผู้ขนส่งไม่อยากเข้าไปค้นหาใบงานจากโหลดบอร์ดเอง จึงขอเข้าร่วมขอเข้าใช้บริการจาก dispatcher

 

คำนิยามที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

Factoring Company คือ ผู้ให้บริการเงินด่วนกับผู้ขนส่งหรือ broker โดยมีรายได้จากการหักค่าธรรมเนียมจากยอดสัญญาว่าจ้าง หากเป็นจ่ายเงินด่วนให้กับ broker เมื่อถึงเวลาที่กำหนดบริษัท factoring จะได้รับค่าบริการเต็มจาก shipper แต่หากเป็นการเปิด factoring ให้กับ carrier เมื่อถึงเวลาที่กำหนดบริษัท factoring จะได้รับค่าบริการเต็มจาก broker บริษัท factoring จะเปิด factoring ให้กับใครจะต้องตรวจสอบเครดิตของผู้ว่าจ้างรวมถึงเอกสารประกอบต่างๆที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อการทำงานสำเร็จแล้วจะไม่มีการปฏิเสธการจ่ายเงินจากผู้ว่าจ้าง

Spot Market คือ การจับคู่ระหว่างงานกับผู้ขนส่งแบบทีละเที่ยววิ่ง (On Demand Matching) มักจะเป็นงานที่มาจากความจำเป็นอย่างเร่งด่วน เกิดจากความคลาดเคลื่อนหรือความไม่แน่นอนของการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ในระบบนิเวศน์ของธุรกิจโลจิสติกส์จำเป็นต้องมีโหลดบอร์ดเพื่อรองรับความไม่แน่นอน โดยเฉลี่ยปริมาณงานใน spot market ประมาณ 10% ของงานทั้งหมด

Contract Market คือ งานเที่ยวประจำ เส้นทางประจำ เป็นงานสัญญาทที่ shipper ทำกับ broker หรือเป็นสัญญาวิ่งงานระหว่าง broker กับผู้ขนส่งก็ได้ สาเหตุที่ต้องมีสัญญาวิ่งงานเพื่อลดความเสี่ยงของทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ

Backhaul คือ งานขากลับ เพิ่ม utilization เพิ่มรายได้ให้กับผู้ขนส่งแทนที่จะต้องตีรถกลับเที่ยวเปล่า การใช้งานรถ backhaul ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับ broker หรือเจ้าของสินค้า